ความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นการวัดปริมาณความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออนที่มีอยู่ในน้ำเพื่อเป็นเครื่องแสดงให้เราทราบว่า น้ำหรือสารละลายมีคุณสมบัติเป็นกรดเป็นด่าง ในการทำปฏิกิริยาต่างๆ ระดับความเป็นกรดด่างมีค่าอยู่ระหว่าง 0-14 โดย 7 เป็นจุดกึ่งกลางหากต่ำกว่า 7 มีค่าเป็นกรด หากสูงกว่าเป็นด่าง ค่า pH ในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น ลักษณะพื้นดินและหิน ตลอดจนการใช้ที่ดินบริเวณแหล่งนั้น และอิทธิพลของสิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่น จุลินทรีย์และแพลงก์ตอนพืช pH ของน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ในแหล่งน้ำ พืชน้ำสามารถใช้ธาตุอาหารได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับค่า pH ของน้ำ หากระดับ pH ต่ำกว่า 4.5 พืชน้ำเจริญเติบโตได้ไม่ดีขณะเดียวกันหากค่า pH ต่ำหรือสูงเกินไปก็ไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีผู้แนะนำช่วง pH ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังนี้
– pH 4.0 หรือต่ำกว่า = เป็นจุดอันตรายทำให้ปลาตายได้
– pH 4.0-6.0 = ปลาบางชนิดอาจไม่ตาย แต่ผลผลิตจะต่ำคือ การเจริญเติบโตช้าการสืบพันธุ์หยุดชะงัก
– pH 6.5-9.0 = ระดับที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
– pH 9.0-11.0 = ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำหากต้องอาศัยอยู่เป็นเวลานาน
– pH 11 หรือมากกว่า = เป็นพิษต่อปลา
ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีค่า pH เปลี่ยนแปลงในช่วงตอนกลางวันและกลางคืนสืบเนื่องจากแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำใช้คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อทำการสังเคราะห์แสงในตอนกลางวัน ทำให้ค่า pH สูง และจะค่อยๆลดตอนกลางคืนเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยคืนกลับมาจากการหายใจของสิ่งมีชีวิตในน้ำ น้ำที่มีค่าความเป็นด่าง (Alkalinity) ต่ำจะมีปริมาณแพลงก์ตอนพืชมาก pH จะสูง 9-10 ในช่วงบ่าย ดังนั้นการเช็คค่า pH ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรเช็คในเวลาเช้ามืดและช่วงบ่าย เพื่อได้ทราบค่า pH ต่ำสุดและสูงสุดในรอบวันเพื่อที่จะป้องกันแก้ไขได้ทัน กรณีค่า pH สูง 9-10 หากเกิดขึ้นช่วงระยะเวลาสั้นๆจะไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และแหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงไม่ควรมีค่า pH เปลี่ยนแปลงเกิน 2 หน่วยในรอบวัน ค่า pH นอกจากมีผลต่อสัตว์น้ำโดยตรงแล้วยังมีผลทางอ้อมเช่น ทำให้สารพิษชนิดอื่นๆแตกตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น pH ระดับสูงขึ้นทำให้ความเป็นพิษของแอมโมเนียเพิ่มมากขึ้น การแทรกซึมของสารพิษบางชนิดเข้าสู่ร่างกายสัตว์น้ำขึ้นอยู่กับค่า pH ของสารละลายนั้นๆ นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยในบ่อปลาหากปรากฎว่าน้ำหรือดินในบ่อที่มีสภาพเป็นกรดมากเกินไป จะต้องปรับปรุงค่า pH สูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมเสียก่อนจึงใส่ปุ๋ย เพื่อที่จะให้ปุ๋ยสามารถละลายและถูกนำไปใช้โดยสิ่งมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปรับค่า pH ในบ่อเลี้ยงปลา
บ่อเลี้ยงหลายแห่งดินมีสภาพเป็นกรด (acid soil) ทำให้น้ำในบ่อมีสภาพเป็นกรดไม่เกิดผลดีต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงต้องปรับปรุงโดยการเติมปูนขาว (Liming) โดยปูนขาวจะทำปฏิกริยากับดินช่วยให้ค่า pH , ค่าความเป็นด่างและความกระด้างสูงขึ้นไปด้วย หากบ่อสร้างใหม่ต้องคอยเช็คคุณภาพน้ำและปรับสภาพน้ำอยู่เสมอ
ปลาแต่ละชนิดจะมีความทนทานต่อกรด-ด่างได้ต่างกัน หากน้ำมีสภาพความเป็นกรดมากเกินไปทำให้ปลามีผิวหนังซีดขุ่นขาว ปลาจะว่ายไปมาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปลาจะพยายามฮุบอากาศและพยายามกระโดดออกจากบ่อ ท้ายที่สุดทำให้ปลาตายได้ เช่นเดียวกันหากน้ำมีสภาพเป็นด่าง (pH 8-9 หรืออาจสูงกว่า) จะทำให้ครีบปลากร่อนและเกิดการระคายเคืองขึ้นที่เหงือก การป้องกันไม่ให้ pH ของน้ำสูงเกินไปทำได้โดยการคุมมิให้น้ำมีสีเขียวจัดเกินไป โดยการลดปุ๋ย ลดให้อาหาร พร้อมถ่ายน้ำออกบางส่วนแล้วเติมปูนขาวอัตรา 50-60 กก./ไร่ และไม่ควรเลี้ยงปลาหนาแน่นมากเกินไป
ความกระด้าง (Hardness)
ความกระด้างของน้ำ (water hardness) หมายถึง ปริมาณของเกลือ, แคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมที่ละลายอยู่ในน้ำ ความกระด้างของน้ำแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือความกระด้างชั่วคราว (Temporary hardness) โดยเกิดจากสารละลายของ calcium หรือ magnesium bicarbonate เมื่อถูกความร้อนจะตกตะกอนกลายเป็นหินปูน (carbonate) ส่วนความกระด้างถาวร (permanent hardness) เกิดจากสารละลายพวก calcium หรือ magnesium carbonate และความกระด้างรวมของน้ำ Total hardness หมายถึง ผลรวมของความกระด้างชั่วคราวและถาวรโดยอยู่ในรูปของ calcium carbonate ค่าความกระด้างของน้ำมีค่าตั้งแต่ 0-100 mg/l ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของแหล่งน้ำ เราสามารถแบ่งระดับความกระด้างของน้ำได้ดังนี้
ความกระด้าง 0 – 75 mg/l น้ำอ่อน
ความกระด้าง 75 – 150 mg/l กระด้างปานกลาง
ความกระด้าง 150 – 300 mg/l น้ำกระด้าง
ความกระด้าง 300 mg/l ขึ้นไป น้ำกระด้างมาก
น้ำทะเลหรือน้ำกร่อยที่มี Na+ ปะปนอยู่สามารถทำให้ความกระด้าง ของน้ำสูงขึ้นได้ซึ่งไม่เป็นความกระด้างที่แท้จริงเรียกว่า pseudo-hardness ความกระด้างโดยตัวของมันเองไม่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำ แต่ความกระด้างของน้ำมีความสัมพันธ์กับค่าความเป็นด่าง (alkalinity) และความเป็นกรดด่าง (pH) น้ำกระด้างยังช่วยลดความเป็นพิษของสารพิษหลายชนิด เช่น โลหะหนัก (heavy metal) ได้แก่ ปรอท ตะกั่วและแคดเมี่ยม ฯลฯ น้ำกระด้างปานกลางหรือสูงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ส่วนน้ำกระด้างอ่อนหรือน้ำฝนไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เราสามารถเพิ่มความกระด้างของน้ำได้โดยการเติมปูนขาว เช่นเดียวกันกับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำ ค่าความกระด้างของน้ำหากเป็นความกระด้างถาวร ถ้าเราใช้อุปโภคบริโภคเป็นประจำในชีวิตประจำวันจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นจึงควรต้องปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้
ความเป็นด่าง (Alkalinity)
ความเป็นด่างของน้ำ หมายถึงคุณสมบัติของน้ำที่ทำให้กรดเป็นกลาง โดยความเป็นด่างของน้ำประกอบด้วย คาร์บอเนต ไบคาร์บอเนต ไฮดรอกไซค์ เป็นส่วนใหญ่แต่อาจมีพวกบอเรต ซิลิเคต ฟอสเฟต และสารอินทรีย์ต่าง ๆ ค่าความเป็นด่างโดยตัวมันเองไม่ถือว่าเป็นสารมลพิษ แต่มีผลเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านอื่น ๆ เช่น ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ความเป็นกรด (acidity) และความกระด้าง Hardness คุณสมบัติของความเป็นด่างต่อแหล่งน้ำเป็นตัวการควบคุมมิให้ pH เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปหากปรากฏว่าแหล่งน้ำมีค่าเป็นด่างต่ำแสดงว่ามี buffering capacity น้อย ค่าความเป็นด่างของน้ำมีค่าแตกต่างกันไป มีค่าตั้งแต่ 25-500 mg/L แหล่งน้ำเสียชุมชนหรือจากโรงงานอุตสาหกรรมอาจมีค่าเป็นด่างสูง เกณฑ์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำควรมีค่าความเป็นด่างระหว่าง 100-120 mg/l เราสามารถปรับค่าความเป็นด่างให้สูงขึ้นโดยใส่ปูนขาว (Liming) การลดความเป็นด่างและความกระด้างจะทำได้ยากไม่นิยมกระทำกัน
ค่าความเป็นด่างกับความกระด้าง (Hardness) มีความสัมพันธ์กัน น้ำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างใกล้เคียงกัน ค่าความเป็นด่างในน้ำไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว น้ำที่มีค่าความเป็นกรด-ด่างต่ำและความเป็นด่างต่ำจะให้ผลผลิตไม่ดี เช่น การเจริญเติบโตจะต่ำ ฯลฯ
แพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำจะใช้ คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสังเคราะห์แสงในตอนกลางวันทำให้ค่า pH สูงขึ้น คือน้ำจะมีสภาพความเป็นด่างมากขึ้นและค่อยๆลดในตอนกลางคืน เนื่องจาก คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยออกมาจากการหายใจน้ำที่มีค่าความเป็นด่างต่ำจะมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7.5 ในตอนเช้าหากมีปริมาณแพลงก์ตอนหนาแน่นค่า pH ในตอนบ่ายอาจจะสูงถึง 10 หรือมากกว่า ส่วนน้ำที่มีค่าเป็นด่างสูงจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงของ pH มากนักโดยอาจมีค่าอยู่ระหว่าง 7.5-8 ในตอนเช้าและเพิ่มเป็น 9-10 ในช่วงบ่ายในบ่อที่มีค่าความเป็นด่างสูงมากประกอบกับมีค่ากระด้างต่ำค่า pH อาจสูงมากถึง 11 ในระหว่างที่มีการสังเคราะห์แสง ดังนั้น การวัดค่า pH จึงควรเช็คในตอนเช้าและช่วงบ่ายเพื่อได้ทราบค่าความเปลี่ยนแปลงต่ำสุดและสูงสุดในแต่ละวัน
ความเค็ม (Salinity)
ความเค็มของน้ำ หมายถึง ปริมาณของแข็ง (Solid) หรือเกลือแร่ต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเดียมคลอไรค์ (NaCL) ที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยมีหน่วยเรียกว่า (parts per thousand) ppt ค่าความเค็มของน้ำจะสัมพันธ์กับค่า Chlorinity ประกอบด้วยปริมาณ คลอไรค์, โบรไมค์และไอโอไดด์ และความนำไฟฟ้า(conductivity) ที่มีอยู่ในน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมความเค็มของน้ำจะแตกต่างตามสถานที่และประเภทของดิน โดยมีผู้แบ่งประเภทน้ำตามระดับความเค็มดังนี้
– น้ำจืด (fresh water) ความเค็มระหว่าง 0-0.5 ppt
– น้ำกร่อย (brackish water) ความเค็มระหว่าง 0.5-30 ppt
– น้ำเค็ม (sea water) ความเค็มมากกว่า 30 ppt ขึ้นไป
ความเค็มของน้ำมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ สำหรับสัตว์น้ำบางชนิด เช่น สัตว์น้ำกร่อยที่อาศัยบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มมากจะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพความเค็มที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ โดยสัตว์น้ำจืดสามารถทนอยู่ในความเค็ม 7 ppt ได้ และปลาขนาดเล็กจะมีความทนทานมากกว่าปลาขนาดใหญ่ ค่าความเค็มของน้ำจะแสดงให้ทราบถึงสภาพทางภูมิศาสตร์และผิวดินบริเวณดังกล่าว เช่น บริเวณที่มีฝนตกชุกและมีน้ำไหลตลอดจะมีความเค็มต่ำที่ประมาณ 0.1-25 ppt ส่วนใหญ่ที่แห้งแล้งและมีการระเหยของน้ำสูงก็จะมีความเค็มสูง อย่างไรก็ตามบางพื้นที่หากมีฝนตกชุก น้ำบาดาลอาจมีค่าความเค็มสูงได้เช่นกัน โดยปกติน้ำทะเลจะมีความเค็มประมาณ 35 ppt น้ำกร่อยมีความเค็มประมาณ 10-15 ppt และน้ำที่มีความเค็มมากกว่า 45 ppt ขึ้นไปจะพบในนาเกลือ อาจไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำบางชนิด สำหรับสัตว์น้ำกร่อยที่อาศัยอยู่บริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มมากจะมีความสามารถปรับตัวและทนทานต่อแรงดัน Osmotic ได้ดี แต่สำหรับสัตว์น้ำทั่วๆไปสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเค็มของน้ำที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปอย่างช้าๆ
สารพิษ (toxicants)
ปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติจะปนเปื้อนด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ ซึ่งจะมีอันตรายต่อสัตว์น้ำโดยเกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัยเนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องอาศัยแหล่งน้ำในธรรมชาติจึงมีความจำเป็นในบางครั้งต้องทำการตรวจสอบปริมาณสารพิษตกค้างที่มีอยู่ในน้ำเพื่อป้องกันมิให้สัตว์น้ำเกิดเป็นอันตราย อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ปริมาณสารพิษมีความยุ่งยากหลายประการ เช่น เครื่องมือมีราคาแพง ชนิดและจำนวนของสารพิษที่ใช้กันอยู่ทั่วๆไปมีมากมายหลายร้อยชนิด ประกอบกับปริมาณที่มีอยู่ในธรรมชาติมีอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น การเก็บตัวอย่าง, การรักษาตัวอย่างและตลอดการวิเคราะห์จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบ จึงไม่ขอกล่าวในรายละเอียดเพียงแค่จะกล่าวถึงสารพิษ 2 ประเภท คือ
1. โลหะหนัก (heavy metals) เป็นสารพิษที่ถูกปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เช่น ปรอท(Hg) , แคดเมี่ยม(Cd), ทองแดง(Cu), ตะกั่ว (Pb), สังกะสี Zn และโครเมียม (Cr) สารพิษเหล่านี้จะทำอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ในความเข้มข้นต่ำ และสามารถอยู่ในร่างกายของสัตว์น้ำอาจถ่ายทอดมายังผู้บริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้นได้อีกด้วย
2. สารเคมีเกษตร (pesticides) ได้จากการทำเกษตรกรรมต่างๆเช่น สารเคมีที่ใช้ในการกำจัดแมลง ศัตรูพืช (insecticides) สารเคมีปราบวัชพืช (herbicides) และสารเคมีกำจัดเชื้อรา (fungicides) เป็นต้น สารประกอบเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งมีพิษต่อสัตว์น้ำแตกต่างกัน บางชนิดก็สลายได้เร็ว บางชนิดก็สลายได้ช้าและสะสมได้ในสิ่งแวดล้อม
การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อทำการวิเคราะห์โลหะหนักต้องใช้ภาชนะที่ไม่ใช่โลหะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสำหรับสารเคมีเกษตรต้องทำด้วยความรวดเร็วโดยเก็บใส่ขวดแข็งปิดฝาให้แน่นแล้วรีบนำเข้าห้องปฏิบัติการทำการวิเคราะห์ทันที
บ่อหรือตู้เลี้ยงปลาอาจมีสารพิษปะปนอยู่ในน้ำ เช่น อุปกรณ์การเลี้ยงในตู้ปลา ท่อยาง ซีเมนต์ หรือสีต่างๆ ในบ่อเลี้ยงปลาอาจมีสารพิษจำพวก ยาฆ่าแมลง เช่น DDT (ดีดีที) หรือมลพิษจากโรงงานต่างๆ ปะปนได้ ปลาจะดูดสารพิษเหล่านี้เข้าไปในตัวผ่านทางเหงือกและผิวหนัง นอกจากนี้ในบ่อเลี้ยงอาจเกิดสารประกอบจำพวกไนไตรท์และแอมโมเนียอาจสืบเนื่องมาจากการเน่าเปื่อยของอาหารหรือการสะสมของเสียต่างๆภายในบ่อ
การป้องกันทำได้โดยการหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่คาดว่าจะนำสารพิษมาสู่บ่อปลาและควรเลือกแหล่งน้ำที่จะนำมาเลี้ยงปลาจากแหล่งที่ปลอดสารพิษจากโรงงานการเกษตรและบ้านเรือน
คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide)
สัตว์น้ำและปลาสามารถทนทานต่อคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในระดับความเข้มข้นสูง แต่อย่างไรก็ตามปลาจะหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในน้ำที่มีคาร์บอนไซด์ในระดับที่สูงกว่า 5 mg/l แต่ปลาส่วนมากสามารถทนทานปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 60 mg/L หากมีออกซิเจนอยู่ในระดับที่เพียงพอ ความสามารถในการรับออกซิเจนของปลาจะลดลงโดยเฉพาะตอนเช้า เนื่องจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยมาจากการหายใจ และยังไม่ถูกนำไปใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้นปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ในบ่อปลาจะมีสูงในช่วงกลางคืนและลดลงตอนกลางวัน นอกจากนี้ คาร์บอนไดออกไซด์อาจจะสูงมากผิดปกติในบ่อหลังจากที่มีการตายของแพลงก์ตอนหรือจากการรวมตัวของน้ำในระดับต่าง ๆ ในขณะที่มีอากาศมืดครึ้ม นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ยังเกิดจากขบวนการย่อยสลาย decomposition พวกอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ โดยแบคทีเรียอยู่ในน้ำและสัตว์น้ำซึ่งจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา โดยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในน้ำจะถูกพืชน้ำนำไปสังเคราะห์แสงในตอนกลางวันทำให้ปริมาณลดลง นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำยังสูญเสียจากการระเหยกลับสู่บรรยากาศเมื่อเวลาพ่นฟองอากาศลงไปในน้ำ เนื่องจากเสียความสมดุลย์ไปและจากการที่พืชน้ำนำไปสร้างสารประกอบพวกหินปูน (calcium carbonate) เรียกว่า Marl ซึ่งเราสามารถไล่คาร์บอนไดออกไซด์ออกจากน้ำโดยการต้มให้เดือด
คาร์บอนไดออกไซด์มีความสำคัญต่อแหล่งน้ำเนื่องจากเป็นตัวควบคุมมิให้ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเรียกว่า (Buffer system) แหล่งน้ำที่เหมาะสมจะมี (buffering capacity) สำหรับการควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ดี ผลของคาร์บอนไดออกไซด์อิสระ ที่มีต่อสัตว์น้ำทำให้ระบบการหายใจของน้ำผิดปกติไปโดยคาร์บอนไดออกไซด์ทำการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดประสิทธิภาพลงในปริมาณที่สูงมากทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่สามารถทำได้ถึงแม้ว่าในน้ำจะมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนไดออกไซด์ในแหล่งน้ำโดยเฉพาะบ่อปลาสามารถสังเกตได้ชัดเจน โดยตอนเช้ามืดจะมีอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูง การที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงทำให้ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ละลายน้ำจะเกิดกรดคาร์บอนิคดังกล่าว โดยทำให้ pH สูงขึ้นในตอนกลางวันลดลงตอนกลางคืน นอกจากการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการหายใจของสิ่งมีชีวิตและการสังเคราะห์แสงของพืชอาจเกิดการรวมตัวของน้ำในระดับต่าง ๆ กันหรือได้รับน้ำเสียจากแหล่งอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการตายของแพลงก์ตอนในแหล่งน้ำพร้อม ๆ กัน
ความขุ่นใส (Turbidity) ความโปร่งใส (Transparency)
ปริมาณสารแขวนลอยทั้งหมด (Total suspenden solids) และความโปร่งใส (Transparency) ความขุ่นของน้ำแสดงให้เห็นว่ามีสารแขวนลอย (suspended and colloidal matter) อยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะขัดขวางไม่ให้แสงสว่างส่องลงไปได้ลึก โดยสารเหล่านี้จะสะท้อนหรือดูดซับเอาแสงไว้ ดังนั้น การวัดความขุ่นของน้ำจึงเป็นการวัดความเข้มข้นของแสงที่ลดลง เนื่องจากสารแขวนลอยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้น้ำเกิดความขุ่นได้แก่ พวกอินทรีย์สาร และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กโดยปรากฎอยู่ในลักษณะของสารแขวนลอย ตัวอย่างเช่น อนุภาคดิน, ทราย หรือสารอื่นๆ แพลงก์ตอน แบคทีเรียตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ
ความขุ่นของน้ำถึงแม้จะปราศจากสารแขวนลอยทั้งหมดที่มีอยู่ในน้ำแต่ระดับความขุ่นของน้ำไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณสารแขวนลอยดังกล่าว เนื่องจากความขุ่นของน้ำเราจะพิจารณาถึงความเข้มของแสงที่สามารถผ่านลงไปในน้ำ ซึ่งสารแขวนลอยแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการดูดซึมสะท้อนแสงแตกต่างกัน ดังนั้นระดับความขุ่นของน้ำไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามปริมาณสารแขวนลอยในน้ำ เพราะสารแขวนลอยมีอยู่หลายชนิดและมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ผลของความขุ่นของน้ำรวมทั้งสารแขวนลอยที่อาจจะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ รวมทั้งการประมงอาจปรากฏได้ในลักษณะดังต่อไปนี้
1. น้ำที่มีความขุ่นมากทำให้แสงสว่างส่องลงไปไม่ได้ลึกก็จะขัดขวางหรือลดปฏิกริยาการสังเคราะห์แสงของพืช โดยเฉพาะแพลงก์ตอนพืชกำลังการผลิตขั้นต้น (Primary productivity) ของแหล่งน้ำลดลง ซึ่งจะทำให้ปริมาณอาหารในธรรมชาติของสัตว์น้ำ ลดลงด้วย
2. ในระดับน้ำที่สูงมากสารแขวนลอยที่ทำให้เกิดความขุ่นจะสามารถทำอันตรายต่อสัตว์น้ำโดยตรงได้ โดยตะกอนสารแขวนลอยจะเข้าไปอุดช่องเหงือกทำให้การหายใจติดขัดและการเจริญเติบโตช้าลงกว่าปกติ การฟักเป็นตัวของไข่และการเจริญเติบโตหยุดชะงักและลดความต้านทานของโรคต่างๆ ฯลฯ
3. เมื่อน้ำมีความขุ่นจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวและอพยพย้ายถิ่นการหาอาหาร และการล่าเหยื่อลดประสิทธิภาพลง แต่อาจเป็นผลดีต่อสัตว์น้ำขนาดเล็กสามารถรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของศัตรูได้
4. ความขุ่นทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะผิวน้ำผิวบนจะดูดซับความร้อน ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ แต่อาจเป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำบางชนิด นอกจากนี้ยังมีผลต่อปริมาณการละลายของออกซิเจนในน้ำด้วย น้ำที่มีสารแขวนลอยอยู่มากจะสามารถซับปริมาณออกซิเจนได้น้อยกว่าน้ำที่ใสกว่า
5. น้ำที่มีความขุ่นผิดปกติจะทำให้การจับสัตว์น้ำหรือการใช้เครื่องมือทำการปรับบางชนิดลดประสิทธิภาพลง
น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีความขุ่นเสมอ เนื่องจากสารแขวนลอยที่ถูกพัดมาจากบริเวณต้นน้ำหรือจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ตะกอนดินทรายหรืออินทรีย์วัตถุอื่นๆ ความขุ่นของน้ำที่เกิดจากแพลงก์ตอนเป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
สำหรับปริมาณสารแขวนลอยนิยมวัดเป็นน้ำหนักในรูป mg/L แหล่งน้ำที่ให้ผลผลิตทางการประมงที่ดี ควรมีสารแขวนลอยอยู่ในช่วงระหว่าง 25-80 mg/L หากอยู่ในช่วง 80-400 mg/L จะให้ผลผลิตลดลงหากมีมากกว่า 400 mg/L ขึ้นไปจะเลี้ยงปลาไม่ได้ผล
ความโปร่งใส (Transparency) วัดเป็นระยะความลึกของน้ำสามารถมองเห็นวัตถุเป็นแผ่นวงกลม (Secchi dise) ที่หย่อนลงไปในน้ำจนถึงความลึกที่มองไม่เห็นแผ่นวัตถุดังกล่าว หากแหล่งน้ำใดมีค่าความโปร่งใสอยู่ระหว่าง 30-60 ซม. นับว่ามีความเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ หากมีค่าต่ำกว่า 30 ซม. แสดงว่าน้ำมีความขุ่นมากเกินไปหรือมีปริมาณแพลงก์ตอนมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนออกซิเจนขึ้นได้ แต่ถ้าค่ามีความโปร่งใสสูงกว่า 60 ซม.ขึ้นไป แสดงว่าแหล่งน้ำนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์
การกำจัดความขุ่นของน้ำ (Remoral of clay turbidity)
บ่อปลาบางแห่งต้องกำจัดความขุ่นเพื่อให้แสงสว่างส่องไปได้ลึกเพื่อให้แพลงก์ตอนได้มีการสังเคราะห์แสงได้ วิธีที่นิยมคือใส่อินทรีย์วัตถุต่างๆลงไปในบ่อ เช่น ปุ๋ยคอกในอัตราประมาณ 300 กก./ไร่ หรือใส่ฟางแห้งในอัตรา 300-600 กก./ไร่ ประมาณ 1-2 ครั้ง ฯลฯ ประสิทธิภาพของการใส่สารเหล่านี้จะแตกต่างไปตามสภาพของน้ำและอาจใช้เวลานานหลายอาทิตย์ กว่าจะแสดงผลออกมาให้เห็น
ส่วนวิธีอื่นได้ผลดีกว่าวิธีที่กล่าวมาแล้วคือ การใช้สารเคมี เช่น สารส้มหรืออลูมินั่มซัลเฟต ซึ่งจะรวมตัวกับสารแขวนลอยต่างๆ ทำให้ตกตะกอนภายในระยะไม่กี่ชั่วโมง การใช้สารส้มควรจะละลายน้ำก่อน แล้วฉีดพ่นไปรอบๆทั่วผิวน้ำในบ่อในขณะที่มีอากาศสงบไม่มีคลื่นลมแรงเพราะอาจทำให้ตะกอนไม่จมลงไปข้างล่างอย่างไรก็ดีสารส้มจะทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดมากขึ้นโดยไปลดค่าความเป็นด่างของน้ำ
วิธีอื่นๆอาจทำได้โดยมีการใส่ปูนขาวในบ่อที่มีความเป็นด่างต่ำก่อนที่จะใส่สารส้มอย่างไรก็ตาม การใส่ปูนขาวในบ่อปกติก็จะช่วยทำให้ตะกอนดินเหล่านี้ลดน้อยลงได้เช่นกัน แต่ถ้าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ควรเติมสารส้มลงไป การใส่สารส้มในบ่อจะทำให้สารแขวนลอยส่วนใหญ่ตกตะกอนได้แต่ไม่สามารถป้องกันความขุ่นได้อย่างถาวร ดังนั้น หากไม่กำจัดแหล่งที่มาของความขุ่นได้แล้ว ความขุ่นก็อาจเกิดขึ้นได้อีกภายหลัง การกำจัดหรือป้องกันการพังทลายของผิวดินโดยการปลูกพืชรอบๆบ่อหรือใช้วิธีขุดคลองกั้นน้ำไว้ชั้นหนึ่งก่อนที่จะปล่อยลงบ่อปลาก็จะช่วยลดความขุ่นของน้ำได้
แพลงก์ตอน (Plankton)
แพลงก์ตอน หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำประกอบด้วย แพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) , แพลงก์ตอนพืช (phytoplankton) และแบคทีเรีย (bacteria) เมื่อปริมาณมากขึ้นทำให้มีความขุ่นสูงขึ้น แพลงก์ตอนพืชต้องการเกลือแร่ (inorganic salts) , คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและแสงแดด เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์กินพวกแพลงก์ตอนพืชที่ยังมีชีวิตและตายแล้ว รวมทั้งเศษอินทรีย์วัตถุ (organic matter) ในน้ำเป็นอาหาร ส่วนแบคทีเรียอาศัยอินทรีย์วัตถุต่างๆที่เน่าสลายเป็นอาหารในการเลี้ยงปลาที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารโดยตรงเช่น ปลานิลจะให้ผลผลิตได้เร็วและสูงกว่าปลาที่กินอาหารประเภทอื่น
เนื่องจากแพลงก์ตอนเป็นอาหารธรรมชาติที่สำคัญของปลาดังนั้น ปริมาณแพลงก์ตอนในบ่อปลาจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อผลผลิตปลา นอกจากมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาแล้วแพลงก์ตอนอาจทำให้น้ำขุ่นและขัดขวางไม่ให้พืชน้ำชนิดต่างๆที่อยู่ชั้นล่างไปเจริญเติบโต โดยลดอัตราสังเคราะห์แสง ถึงแม้ว่าแพลงก์ตอนจะมีประโยชน์แต่ถ้ามีปริมาณมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายได้เหมือนกันโดยเฉพาะเมื่อมีการเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนมากๆในบ่อปลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิดสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว (blue green algae) มักลอยเป็นฝ้าอยู่บนผิวน้ำและดูดซับความร้อนจากแสงแดดทำให้น้ำในบ่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นในตอนกลางคืน แพลงก์ตอนเหล่านี้จะดูดออกซิเจนในน้ำไปใช้ในการหายใจทำให้เกิดการขาดแคลนออกซิเจนขึ้นในช่วงเช้าได้ นอกจากนี้หากแพลงก์ตอนที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและจะตายพร้อมๆกันจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลงหรืออาจเกิดกลิ่นในเนื้อปลาได้เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงประชากรของแพลงก์ตอนทั้งในด้านชนิดและปริมาณนั้นจะทำให้ระดับความโปร่งใสและสภาพลักษณะน้ำเปลี่ยนแปลงไปด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจะไม่มีผลกระทบต่อตัวปลาหากมีมากเกิน จะก่อให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใสเป็นระยะๆพร้อมเฝ้าสังเกตุสภาพลักษณะของน้ำในบ่อก็จะทำให้ผู้เลี้ยงปลาสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณสมบัติของน้ำสามารถควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนได้โดยเฉพาะแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น คาร์บอน , ออกซิเจน , ไฮโดรเจน , ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน ฯลฯ ซึ่งในแร่ธาตุเหล่านี้ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนมากที่สุด ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตลงในบ่ออาจเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนพืช ทำให้ผลผลิตของปลาสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามหากน้ำขาดแคลน ไนโตรเจน , โปแตสเซียม และคาร์บอนอาจทำให้แพลงก์ตอนไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ ในแหล่งน้ำที่ไม่มีการควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนจะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและบริเวณชายฝั่งโดยรอบ บ่อปลาที่ตั้งอยู่ในที่ดินมีความสมบูรณ์จะให้ผลผลิตสูง เพราะมีธาตุอาหารมาก ความกระด้างสูงและสามารถควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนให้อยู่ในระดับเหมาะสมได้ เช่น การใส่ปุ๋ยเพิ่ม ปริมาณแพลงก์ตอนในบางแห่งการใส่ปุ๋ยและปูนขาวจะช่วยให้แพลงก์ตอนสูงขึ้นโดยเฉพาะปุ๋ยคอกก็ทำให้ปริมาณแพลงก์ตอนสูงขึ้นเช่นกัน
อุณหภูมิ (Temperature)
อุณหภูมิของน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลโดยทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นระยะทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยปกติอุณหภูมิของน้ำตามธรรมชาติจะผันแปรตามภูมิอากาศ ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาล ระดับความสูงและสภาพภูมิประเทศ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ กระแสลม, ความลึก, ปริมาณสารแขวนลอยหรือความขุ่น และสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไปของแหล่งน้ำ
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำตามธรรมชาติจะค่อยไปอย่างช้า ๆ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตสัตว์น้ำ อุณหภูมิของร่างกายสัตว์น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำและสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ปลาจะสามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำในช่วงจำกัด เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตก็จะสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิลดลงกิจกรรมเหล่านั้นก็จะลดลงไปด้วยตามกฎของ(Van Hoff’s Law) ซึ่งกล่าวว่าขบวนการ เมตาโบลิซึ่ม (Metabolic rate) ของสิ่งมีชีวิตจะเพิ่มเป็น 2-3 เท่า เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 10 องศาเซลเซียส เช่น การหายใจ, การว่ายน้ำ, การกิน, การย่อยของอาหาร, การขับถ่ายและการเต้นของหัวใจ เป็นต้น อัตรา กิจกรรมเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในปลาแต่ละชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับขบวนการทางชีวเคมีภายในร่างกายและสภาพแวดล้อม เช่น ปลาขนาดใหญ่จะมีอัตราเมตาโพลิน้อยกว่าปลาที่มีขนาดเล็ก โดยปกติอุณหภูมิภายในตัวปลาจะแตกต่างไปจากอุณหภูมิของน้ำเพียง 0.5-1 oC เหงือกปลาจะเป็นอวัยวะที่สำคัญช่วยในการถ่ายเทและรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย ปลาขนาดเล็กจะมีอัตราส่วนระหว่างเหงือกต่อน้ำหนักตัวมากกว่าปลาขนาดใหญ่ ทำให้ปลาขนาดเล็กสามารถทนทานและปรับตัวได้ดีกว่าปลาขนาดใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำอย่างรวดเร็ว (Temperature shock) สามารถทำให้เกิดอันตรายโดยตรงต่อสัตว์น้ำได้ เช่น ทำให้ระบบการควบคุมขับถ่ายน้ำและแร่ธาตุภายในร่างกาย (Osmoregulatory system) ผิดปกติไปทำให้ร่างกายอ่อนแอและตายได้ การปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่มีอุณหภูมิสูงหรือระบบหล่อเย็น (Cooling system) จะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าวหากอุณหภูมิสูงกว่า 2-3 oC อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในระดับสูงขึ้นไปชนิดปริมาณและสัดส่วนของประชากรจะถูกควบคุมโดยอุณหภูมิ นอกจากนี้อุณหภูมิยังมีผลต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพของแหล่งน้ำหลายประการ เช่น ความหนาแน่น, ความหนืด, ความสามารถในการละลายก๊าซออกซิเจน, การแบ่งชั้นของน้ำ, การหมุนเวียนของแร่ธาตุต่างๆ และกระแสน้ำ เป็นต้น ผลกระทบที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงคือ ปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำจะลดลง ขณะเดียวกันสัตว์น้ำต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นจึงเกิดปัญหาขาดแคลนออกซิเจนขึ้นได้และการทำงานของแบคทีเรียและจุลินทรีย์ชนิดต่างๆในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลต่างๆในน้ำก็จะเพิ่มขึ้นและต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้นก็จะทำให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจนเร็วขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการเน่าเสีย การอพยพย้ายถิ่น การวางไข่ การฟักไข่ เป็นตัวของสัตว์น้ำล้วนแต่ถูกควบคุมโดยอุณหภูมิทั้งสิ้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำทำให้พืชน้ำโดยเฉพาะแพลงก์ตอนมีการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของสาหร่ายหลายชนิด เช่น อุณหภูมิสูงจะมีพวกสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวมาก จะไม่ก่อประโยชน์ต่อสัตว์น้ำบางชนิดอาจทำให้เป็นพิษแก่สัตว์น้ำได้ นอกจากนี้หากมีปริมาณมากก็จะทำให้เกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็นย่อมมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้เช่นเดียวกัน
ปลาไม่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหัน ดังนั้นในการเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งต้องระวังเป็นพิเศษ โดยต้องให้ปลาปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิอย่างช้าๆ โดยเฉพาะถ้านำปลาที่มีอุณหภูมิต่ำไปที่มีอุณหภูมิสูงจะมีผลรุนแรงมากกว่า อุณหภูมินอกจากมีผลต่อสัตว์น้ำโดยตรงอาจมีผลทางอ้อมเช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้สารพิษประเภทต่างๆ เช่น ยาปราบศัตรูพืชและโลหะหนักมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิสูงจะช่วงเร่งให้มีการดูดซึม การแพร่กระจายของสารพิษเหล่านั้นให้เข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามสารพิษบางชนิดมีพิษลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิไปทำให้ปฏิกริยาย่อยสลาย และการกำจัดสารพิษออกนอกร่างกายได้เร็วขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้อุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความต้านทานต่อโรคของสัตว์น้ำเปลี่ยนแปลงไปและเชื้อโรคบางชนิดสามารถแพร่กระจายได้ดีในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน
ปลาในเขตร้อนเช่น ประเทศไทยชอบอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 25-32 oC บ่อเลี้ยงปลาธรรมชาติโดยทั่วไปเนื่องจากมีปริมาณแร่ธาตุสารแขวนลอย, แพลงก์ตอน และความขุ่นค่อนข้างสูง ดังนั้นตอนกลางวันที่มีแดดจัดผิดน้ำชั้นบนจะดูดซับความร้อนไว้ได้มาก อาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 oC ส่วนน้ำชั้นล่างที่มีอุณหภูมิต่ำอาจเกิดการแบ่งชั้นของอุณหภูมิความลึก (Thermal stratification) แต่มักปรากฎในแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ ส่วนในบ่อเลี้ยงปลามีพื้นที่น้อย ความลึกไม่เกิน 2 เมตร จะไม่ค่อยเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดีในบ่อที่มีความขุ่นสูงกระแสลมไม่พัดผ่าน อาจเกิดการแบ่งชั้นอุณหภูมิขึ้นได้โดยเฉพาะวันที่มีท้องฟ้าใสลมสงบ แดดจัด การรวมตัวของน้ำชั้นบนและชั้นล่างจะเกิดขึ้นตอนกลางคืนหรือรุ่งเช้าเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำจะค่อยๆลดทำให้เกิดการรวมตัวหรือหากในบ่อมีความขุ่นลดลง ปริมาณแพลงก์ตอนลดน้อยลงทำให้แสงสว่างส่องลงไปลึกมากขึ้น การแพร่กระจายของอุณหภูมิจะสม่ำเสมอในทุกๆความลึก เกิดการรวมตัวภายหลังเกิดการแบ่งชั้นของอุณหภูมิส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำทำให้เกิดการขาดแคลนออกซิเจนในแหล่งน้ำได้
อุณหภูมิที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดโรค
หากอุณหภูมิของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันอาจทำให้ปลาตายได้เช่น เปลี่ยนแปลงช่วง +12 oC ปลาส่วนใหญ่จะปรับตัวทันแต่มีปลาหลายชนิดไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเกิดขึ้นเสมอคือ การขนส่งปลาจากบ่อหนึ่งไปอีกบ่อหนึ่ง ดังนั้นควรระวังในการขนถ่ายหากปลาเกิดช๊อคเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหันทำให้ปลาอ่อนแอลงและติดเชื้อได้ง่ายและปลาที่อยู่ในน้ำที่เย็นหรืออุณหภูมิต่ำจะมีลักษณะผิวหนังซีดและเกิดการติดเชื้อราได้ง่าย
โดยสรุป การป้องกันผลกระทบอุณหภูมิที่มีต่อสัตว์น้ำควรป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของแหล่งน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือผิดปกติไปจากสภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือฤดูกาลและไม่ควรเกินในช่วงอุณหภูมิปกติในการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ
ปริมาณออกซิเจนละลาย (Dissolved oxygen)
ออกซิเจนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตเนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ย่อมต้องการออกซิเจนเพื่อการหายใจและเจริญเติบโต ออกซิเจนในน้ำขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น อุณหภูมิระดับความสูงและความเค็ม ออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อยเมื่ออุณหภูมิสูง และน้ำที่มีความเค็มสูงจะมีออกซิเจนละลายอัตราความเข้มข้นเท่ากับออกซิเจนในบรรยากาศเรียกว่า จุดอิ่มตัว(Saturation Level) ดังนั้นสัตว์น้ำจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนออกซิเจนมากกว่าสัตว์บก ในช่วงฤดูร้อนอัตราการย่อยสลายและปฏิกริยาต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นทำให้ปริมาณความต้องการออกซิเจนสูงไปด้วย บางครั้งในแหล่งน้ำจะมีปรากฎการณ์เกินจุดอิ่มตัว(supersaturation) เนื่องจากการผลิตออกซิเจนออกมามาก เช่น พืชสีเขียวทำการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ตอนกลางวัน สภาพดังกล่าวหากเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน ดังนั้นการควบคุมและป้องกันไม่ให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลงอยู่ในระดับต่ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคุ้มครองให้สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้ปกติ
แหล่งที่มาของออกซิเจนในน้ำ
1. จากบรรยากาศโดยตรง เช่น กระแสลมพัดผ่านผิวน้ำ แต่มีปริมาณไม่มาก
2. จากขบวนการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ของพืชน้ำ เช่น แพลงก์ตอนพืชเป็นแหล่งให้ออกซิเจนในน้ำมากที่สุด ซึ่งตอนกลางวันพืชน้ำจะสังเคราะห์แสงผลิตออกซิเจนออกมาละลายในน้ำ
3. จากขบวนการเคมีอื่นๆ ในน้ำโดยแหล่งน้ำบางแหล่งมีแร่ธาตุทำปฏิกริยากันทำให้เกิดออกซิเจนละลายในน้ำได้
สาเหตุทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลง
1. จากการหายใจของสัตว์น้ำและพืชน้ำ
2. จากการเน่าสลายของอินทรีย์วัตถุ เช่น แบคทีเรีย
3. จากขบวนการทางเคมีหรือสารประกอบแร่ธาตุต่างๆ
4. จากการหมุนเวียนของน้ำผสมกับน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำน้อยกว่า
สัตว์น้ำและพืชน้ำใช้ออกซิเจนละลายน้ำเพื่อการหายใจ การควบคุมปริมาณพืชน้ำและแพลงก์ตอนจึงมีความจำเป็นเพื่อให้ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำเพียงพอตลอดวัน การเน่าสลายของอินทรีย์วัตถุต่างๆโดยแบคทีเรียที่ต้องการใช้ออกซิเจนอย่างเดียวเรียกว่า Biochemical oxygen demand (BOD) จะเป็นดรรชนีในการแสดงว่าน้ำมีความเน่าเสียมากน้อยเพียงใด ถ้าปริมาณความต้องการออกซิเจนสูงมาก แสดงว่า ในน้ำมีอินทรีย์วัตถุเน่าสลายอยู่มาก โดยมีแบคทีเรียทำการย่อยสลายโดยทั่วไปปลาไม่สามารถทนอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 0.3 mg/L หรือต่ำกว่า 1.0 mg/L เป็นเวลานานแต่ปลาบางชนิดมีความต้องการออกซิเจนต่ำและมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ สามารถที่จะอยู่ได้ ดังนั้น ในการควบคุมป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำได้รับอันตรายไม่ควรให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่า 3 mg/l หรือหากต่ำกว่านี้ควรเป็นระยะเวลาสั้นเพียง 2-3 ชั่วโมง
การขาดแคลนออกซิเจนในน้ำถึงแม้ไม่ต่ำถึงระดับทำให้ปลาตาย แต่อาจมีผลต่อการดำรงชีวิตสัตว์น้ำได้หลายประการ เช่น ปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 3 mg/l ทำให้ระยะฟักไข่ของปลาช้ากว่าปกติ นอกจากนี้สัตว์น้ำขนาดตัวอ่อนมีความแข็งแรงน้อยลง การเจริญเติบโตและต้านทานสารพิษน้อยลงไปด้วย แนวทางแก้ไขภาวะขาดแคลนออกซิเจนระยะสั้น ควรใช้เครื่องมือพ่นน้ำเป็นฝอยกระจายเพื่อดึงเอาออกซิเจนในบรรยากาศลงมา การป้องกันระยะยาวควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนไม่ให้มีมากเกินไป โดยใช้วิธีวัดความโปร่งใส(Transparency) เป็นแผ่นไม้ทาสีขาวสลับดำหย่อนลงไปในน้ำ หากต่ำกว่า 30 ซม. แสดงว่ามีแพลงก์ตอนมากเกินไประยะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตช่วง 30-60 ซ.ม. การลดปริมาณแพลงก์ตอนโดยการระบายน้ำออกจากบ่อประมาณหนึ่งในสามของปริมาณเดิม เอาน้ำใหม่เข้าจากนั้นคอยควบคุมลดปริมาณอาหารและปุ๋ยที่ใส่ในบ่อ นอกจากนี้แพลงก์ตอนพืชชนิดสีเขียวแกมน้ำเงิน (blue green algae) จะเกิดขึ้นในน้ำมีอุณหภูมิสูงช่วงฤดูร้อน แพลงก์ตอนชนิดนี้อาจตายพร้อมกันในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสลมสงบ ทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลงหรือสังเกตุจากสีเขียวเป็นสีเทาหรือน้ำตาล แสดงว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงชนิดแพลงก์ตอน ซึ่งต้องเฝ้าดูและตรวจสอบออกซิเจนในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำตลอด
ขาดออกซิเจนในบ่อเลี้ยง
ปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอมักจะว่ายน้ำเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย กระโดดออกมาจากบ่อหรืออาจจะว่ายน้ำอยู่บริเวณผิวน้ำและโผล่ปากขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อฮุบอากาศการขาดออกซิเจนในน้ำในบ่อเลี้ยงมักเกิดจากการเปลี่ยนน้ำไม่ดีพอหรือให้อาหารมากเกินไป อาหารที่เหลือจะเกิดการเน่าเปื่อยและใช้ออกซิเจนมากทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง นอกจากนี้การที่น้ำมีอุณหภูมิสูงจะมีผลช่วงเร่งปฏิกริยาการเน่าเปื่อยของอาหารทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงอีก ด้วยการใช้สารเคมีบางชนิดเพื่อรักษาโรค ทำให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจน เช่น ฟอร์มาลีนและด่างทับทิม เป็นต้น
การป้องกันการขาดออกซิเจนในบ่อเลี้ยงทำได้โดยการดูแลความสะอาดของบ่อมีระบบการให้อากาศที่ดีและมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เสมอโดยดูดน้ำจากก้นบ่อออกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยปลาลงเลี้ยงหนาแน่นเกินไป
การวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำ เช่น ความเค็ม, ความเป็นกรดเป็นด่าง(pH) ความเป็นด่าง ความกระด้าง และปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ ฯลฯ พารามิเตอร์เหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้น การควบคุมและป้องกันคุณสมบัติของน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจึงต้องสังเกตุสัตว์น้ำและตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำอย่างสม่ำเสมอ
เอกสารอ้างอิง
ไมตรี ดวงสวัสดิ์ และจารุวรรณ สมศิริ. 2528. คุณสมบัติของน้ำและวิธีการวิเคราะห์สำหรับการวิจัยทางการประมง. ฝ่ายวิจัยสิ่งแวดล้อมสัตว์น้ำ. สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ, กรมประมง. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 17-93 หน้า.
ไมตรี ดวงสวัสดิ์. 2526. คุณสมบัติของน้ำกับการเลี้ยงปลา. สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ, 1-23 หน้า.
กมลพร ทองอุไทย และสุปราณี ชินบุตร. เอกสารแนะนำกรมประมง. 23-26 หน้า.